การสอบเทียบเครื่องชั่งน้ำหนักดิจิตอล
ในการสอบเทียบนั้นจะใช้ตุ้มน้ำหนักมาตรฐานในการสอบเทียบ ซึ่งจะต้องมีการทดสอบมาแล้วว่าได้น้ำหนักที่เป็นมาตรฐานจริง

เราก็จะนำมาสอบเทียบกับมาตรวัดของเครื่องชั่งว่า ได้น้ำหนักตามการชั่งจริงหรือไม่ ซึ่งก็จะได้ผลอยู่ 3 กรณี คือ
- ได้น้ำหนักตรงกับลูกตุ้มที่ใช้ในการเทียบ
- ไม่ตรงตามน้ำหนักที่ใช้เทียบแต่สามารถปรับตั้งได้ หรือ
- ไม่ตรงตามน้ำหนักที่ใช้เทียบและไม่สามารถปรับตั้งได้
ในกรณีที่สอบเทียบแล้วไม่ตรงตามข้อ 2 ก็จะแบ่งออกได้เป็น
- ค่าที่ได้ไม่ตรงทุกช่วงชั้นในอัตราที่เท่าๆ กัน เช่น เทียบที่ 5 กิโลกรัม แล้วได้ค่าเป็น 7 กิโลกรัม หรือชั่งที่ 50 กิโลกรัม ได้ค่าเป็น 52 กิโลกรัม ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีค่าความคลาดเคลื่อนที่เท่าๆ กัน ซึ่งสามารถปรับตั้งให้ได้น้ำหนักที่เที่ยงตรงได้ทุกช่วงชั้น
- ค่าที่ได้มีอัตราความคลาดเคลื่อนที่ไม่แน่นอน ณ ช่วงใดช่วงหนึ่ง เช่น ชั่งที่ 10 กิโลกรัม ได้ค่า 12 กิโลกรัม ชั่งที่ 20 กิโลกรัม ได้ค่า 21 กิโลกรัม แต่ชั่งตั้งแต่ 50 กิโลกรัมขึ้นไป ตรงตามน้ำหนักที่สอบเทียบ อย่างนี้สามารถปรับตั้งให้ใช้ชั่งน้ำหนักเฉพาะที่ช่วงชั้นใดที่เหมาะสมได้
วิธีการสอบเทียบน้ำหนักของเครื่องชั่งดิจิตอล
- โดยปกติแล้วสำหรับเครื่องชั่งที่เป็นแบบดิจิตอล เมื่อทำการเปิดเครื่องก็จะมีการทดสอบน้ำหนักที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่ามีค่าเป็นเท่าไรแล้วทำการปรับให้เป็นค่า 0 โดยการ zero
- นำตุ้มน้ำหนักวางลงบนแท่นชั่ง
- อ่านค่าที่ได้จากสเกล แล้วบันทึกน้ำหนักที่ได้
- ทำการเพิ่มน้ำหนักโดยวางลูกตุ้มลูกที่สองลงไป แล้วอ่านค่าที่ได้และทำการบันทึกน้ำหนัก
- เพิ่มน้ำหนักโดยวางลูกตุ้มลูกที่ 3 ลงไป อ่านค่าแล้วบันทึกน้ำหนัก
- เพิ่มน้ำหนักโดยวางลูกตุ้มลูกที่ 4 ลงไป อ่านค่าแล้วบันทึกน้ำหนัก
- เพิ่มน้ำหนักโดยวางลูกตุ้มลูกที่ 5 ลงไป อ่านค่าแล้วบันทึกน้ำหนัก
- ดูผลจากค่าที่ได้ว่าเป็นไปตามน้ำหนักของลูกตุ้มที่เพิ่มไปหรือไม่ ถ้าตรงทุกช่วงชั้นก็จะผ่านการสอบเทียบ แต่ถ้าไม่ตรงก็จะต้องพิจารณาถึงการปรับตั้งว่าควรจะปรับอย่างไรจึงจะเหมาะสมมากที่สุด เพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำที่สุดในการนำไปใช้งาน
